ในช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก หรือที่เรียกกันว่า “กินเจ” มักจะนำไม้ชนิดหนึ่งมาเผาในหม้อดินเพื่อให้เกิดควันแล้วนำไปตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ทั่วบริเวณศาลเจ้า ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้ศาลเจ้าสะอาด
ไม้ที่ว่านั่นก็คือ… “ไม้จวง” ครับ
จวง หรือ เทพธาโร เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง สูงประมาณ 15-20 เมตร เปลือกไม้แตกเป็นร่องชัดเจน สีน้ำตาลเข้ม ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรีแกมไข่ ใบค่อนข้างหนา เรียงสลับแผ่น ดอกเป็นช่อขนาดเล็กออกตามปลายกิ่ง สีขาวหรือเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม พบได้ในป่าดงดิบทั่วประเทศ แต่ทางปักษ์ใต้จะพบมากที่สุด โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน
ไม้จวงเป็นไม้ที่มีการใช้มานานในการทำเป็นเครื่องหอมบูชาเทพเจ้า จนถึงปัจจุบันไม้จวงก็ยังใช้เป็นเครื่องบูชาในศาลเจ้าจีนอยู่ นอกจากนั้นด้วยความหอมและเนื้อไม้ที่ละเอียด สีเหลืองอ่อนไปทางขาว จึงนิยมนำมาแกะสลักเป็นเทพเจ้าต่างๆ
นอกจากนี้ ไม้จวงยังนำมาใช้เป็นยาได้หลายชนิด และสามารถนำใบมาทำเครื่องแกงสะละหมั่น (หรือมัสมั่น) แทนใบกระวานได้อีกด้วย
ด้วยความที่ไม้จวงเป็นไม้ที่หอมและได้รับนิยมโดยเฉพาะด้านพิธีกรรมของคนไทยเชื้อสายจีนอย่างกว้างขวาง ไม้จวงจึงกลายเป็นไม้ที่มีคุณค่าแห่งหนึ่งของฝั่งอันดามัน และได้ชื่อว่า “เทพธาโรแห่งอันดามัน” ไปในที่สุด